Accessibility Tools

สำนักประธานศาลฎีกา
Office of the President of the Supreme Court
image

สำนักประธานศาลฎีกา

image
ทำเนียบประธานศาลฎีกาimage

รายพระนาม รายนามอธิบดีศาลฎีกา/ประธานศาลฎีกา

กรุณาคลิกที่ลิงก์เพื่อเข้าสู่ทำเนียบประธานศาลฎีกาและรวมผลงานของประธานศาลฎีกาตั้งแต่อดีต - ปัจจุบัน
>> https://joo.gl/fXObWy <<

**********

บทนำ

          ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ราชการศาลยุติธรรมได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยและก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ในเบื้องแรกได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแยกการศาลทางตุลาการออกเป็นสัดส่วนจากการบริหาร ได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ปรับปรุงศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๕๑ และประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยแบ่งศาลออกเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) มีอธิบดีศาลฎีการับผิดชอบในงานของศาลฎีกา และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่ออธิบดีศาลฎีกา เป็น ประธานศาลฎีกา ตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาหรือตำแหน่งประธานศาลฎีกานี้ ไม่ใช่เป็นตำแหน่งแต่หัวหน้าส่วนราชการในศาลฎีกาเท่านั้น ยังเป็นประธานในราชการฝ่ายตุลาการและเป็นอิสระจากเสนาบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลทั้งหลาย เพื่อให้กิจการของศาลดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติและมีเสียงอันสำคัญในการแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษาทั้งกระทรวงด้วย พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์ ได้ทรงเรียกตำแหน่งนี้ว่า "ประมุขตุลาการ" ในสมัยที่เจ้าพระยามหิธรเป็นอธิบดีศาลฎีกานั้น หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของชาวอังกฤษเรียกตำแหน่งนี้ว่า "Lord Chief Justice" ซึ่งแปลว่า ประมุขตุลาการ

          นับจากอดีตถือได้ว่า ประธานศาลฎีกา มีบทบาทอย่างสำคัญต่ออำนาจตุลาการของประเทศ เนื่องจากประธานศาลฎีกามีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการที่มีหน้าที่ในการคานและดุลกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และนับจากวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา บทบาทของประธานศาลฎีกามีความโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๕ ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ บทบาทเบื้องต้นของประธานศาลฎีกาที่ชัดเจน ได้แก่ การรักษาตามพระราชบัญญัติสำคัญรวม ๓ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

          ทั้งนี้ ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติประธานศาลฎีกาแต่ละท่าน สามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และเอกสารจดหมายเหตุ ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม โทร. ๐-๒๕๑๒-๘๔๑๓ โทรสาร ๐-๒๕๑๒-๘๔๑๓

**********

อ้างอิง (Reference) :

        จารุณี ฐานรตาภรณ์. "เยือนอดีต ศาลฎีกามีบทบาทของประธานศาลฎีกา : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ภายหลังที่ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ," หน้า ๓๗.

        พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ. (๒๕๖๒). รายพระนามและรายนามอธิบดีศาลฎีกา และประธานศาลฎีกา. เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://joo.gl/JB2Xf. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒).

        ศาลฎีกา (The Supreme Court of Thailand). (๒๕๖๑). รายพระนาม รายนาม อธิบดีศาลฎีกา/ประธานศาลฎีกา (อดีต-ปัจจุบัน). เว็บไซต์ศาลฎีกา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://joo.gl/D0yy. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒).

        สบโชค สุขารมน์. ประวัติศาลฎีกา. ในหนังสือที่ระลึกนิทรรศการทางการศาล สมโภชกรุงรัตน-โกสินทร์สองร้อยปี. หน้า ๑๕ - ๑๖.

        สำนักงานศาลยุติธรรม. (๒๕๖๑). รายพระนาม รายนาม อธิบดีศาลฎีกา/ประธานศาลฎีกา. นิตยสารสำนักงานศาลยุติธรรม ดุลพาห เล่มที่ ๑ ปีที่ ๖๕ มกราคม - เมษายน ๒๕๖๑ ISBN 0125-0558. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://joo.gl/fjik1c. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒).

 **********