สำนักประธานศาลฎีกา
วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารศาลยุติธรรม นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างประกาศ แบบใบสมัคร หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารศาลยุติธรรม นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติและพฤติการณ์ทั่วไปของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศรายชื่อบุคคล ผู้มีสิทธิเข้าแสดงความคิดเห็น และรับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการสรรหาฯ ต่อไป
วันที่ 10 มกราคม 2568 เวลา 9 นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารศาลยุติธรรม นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแสดงวิสัยทัศน์และเข้ารับการสัมภาษณ์กับคณะกรรมการสรรหา หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาพิจารณาลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรใด้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
เกร็ดความรู้
ภารกิจของประธานศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้ง ๕ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมดโดยตำแหน่ง มีประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ สำหรับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระดังกล่าวเว้นแต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังกำหนดให้บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง (หากมิใช่เป็นกรณีสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระอื่นที่มิใช่องค์กรอิสระที่กำลังดำเนินการสรรหาแต่งตั้งขึ้นเป็นกรรมการสรรหาด้วย ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เมื่อรวมกับประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาโดยตำแหน่งแล้ว จึงมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๙ คน
อย่างไรก็ดี หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระแต่งตั้งมีไม่ครบ ไม่ว่าด้วยเหตุใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา กฎหมายบัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา และให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ ด้วย
ในส่วนของการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้ง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ วรรคสี่ กำหนดให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดที่คณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการไปแล้วก่อนมีคําวินิจฉัย
สำหรับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลงในครั้งนี้ เป็นกรณีสืบเนื่องจากนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ตามลำดับ จึงต้องดำเนินการสรรหาตุลาการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ตุลาการครบวาระ ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ นายนครินทร์เป็นตุลาการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ ส่วนนายปัญญาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๔) (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน
ในการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว คณะกรรมการสรรหาอาจดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย