สำนักประธานศาลฎีกา
วันนี้ (๑๓ ธันวาคม 2567) เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารศาลยุติธรรม นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ทั่วไปของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ
เกร็ดความรู้
ภารกิจของประธานศาลฎีกาที่เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้ง ๕ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยกำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระโดยตำแหน่ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังกำหนดให้บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระอื่นที่มิใช่องค์กรอิสระที่กำลังดำเนินการสรรหาแต่งตั้ง เป็นกรรมการสรรหาด้วย ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงมีจำนวน ๙ คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง และบุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง
ทั้งนี้ สำหรับบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้ง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งต้องไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระแต่งตั้งมีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒ วรรคห้า บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ นอกจากนี้ กฎหมายยังบัญญัติให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๙ กำหนดกรอบระยะเวลาของการสรรหาไว้ โดยกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ภายใน ๑๒๐ วัน ก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่หากเป็นกรณีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น การดำเนินการสรรหากรรมการใหม่จะกระทำภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง สำหรับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ในครั้งนี้ เป็นกรณีสืบเนื่องมาจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ ๗๐ ปี บริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๗ ส่วนนายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๗ โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๗ คณะกรรมการสรรหาได้ประชุมเพื่อพิจารณาร่างประกาศรับสมัคร แบบใบสมัคร หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนบุคคลทั้งสาม ภายหลังประกาศรับสมัคร ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครเข้ารับการสรรหา จำนวน ๔๐ คน
ในการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว คณะกรรมการสรรหาอาจดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย