Accessibility Tools

สำนักประธานศาลฎีกา
Office of the President of the Supreme Court

สำนักประธานศาลฎีกา
image

สำนักประธานศาลฎีกา

สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (Council of ASEAN Chief Justices)image

สารบัญ : ความเป็นมาสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน - วัตถุประสงค์ของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน - คณะทำงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน - การประชุมอาเซียนพลัส (ASEAN+ Meetings)  - กฎบัตรและข้อบังคับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน - ข่าวการประชุมสถาประธานศาลสูงสุดอาเซียน - Declarations ปฏิญญาการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน

จัดทำและเรียบเรียงข้อมูล โดย ส่วนกิจการต่างประเทศและสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน สำนักประธานศาลฎีกา

 

 


สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน
(Council of ASEAN Chief Justices)

สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน เป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนตามข้อ ๑๖ ของกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กฎบัตรอาเซียน) มีบทบาทในการสนับสนุนความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน  โดยมีการปรับปรุงภาคผนวก ๒ ของกฎบัตรอาเซียนและเพิ่มชื่อองค์กรนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ มีสมาชิกประกอบด้วยประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ

ความเป็นมาของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน

                    สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน (ASEAN Law Association – ALA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยประเทศสมาชิก ALA จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และประธานศาลฎีกาของแต่ละประเทศมักจะเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ  ในการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ ๓๕  ซึ่งประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ประธานศาลฎีกาแห่งประเทศสิงคโปร์จึงริเริ่มให้การประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียน (ASEAN Chief Justices’ Meeting) ขึ้นเป็นครั้งแรก  ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ หลังจากนั้นมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปีคู่ขนานกับการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน  ในช่วงเริ่มต้นมีสถานะเป็นเพียงการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างศาลยุติธรรมภายในภูมิภาคเท่านั้น ยังไม่มีสถานะเป็นองค์กรแต่อย่างใด  ผลของที่ประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนทำให้มีการยกเลิกคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรม  (Judicial Section) ของสมาคมกฎหมายอาเซียน โดยในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางการศาลในภูมิภาคอาเซียน (โครงการ ASEAN Judiciaries Portal) โดยประเทศสิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

 

                    ในการประชุมครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ได้เสนอความคืบหน้าและความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN Judiciaries Portal ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานข้อมูลความรู้เกี่ยวกับระบบศาลยุติธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาถึงงบประมาณและการหาเงินทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าว และที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภายนอก ต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่เมืองโบราไกย์ ประเทศฟิลิปปินส์ Justice Lee Seiu Kin ผู้แทนจากประเทศสิงคโปร์แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการดังกล่าว และการขอรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์  ซึ่งติดข้อจำกัดในเรื่องสถานะของที่ประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนไม่มีสถานะองค์กรที่ได้รับการรับรองใด ๆ  จึงเป็นอุปสรรคต่อการรับเงินทุนสนับสนุน พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการยกสถานะของที่ประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนให้มีความเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมทั้งหมดรวมทั้งผู้แทนจากศาลฎีกาไทยก็เห็นชอบด้วยกับแนวทางในการเพิ่มชื่อขององค์กรให้เป็นส่วนหนึ่งในภาคผนวก ๒ ของกฎบัตรอาเซียน

                    การประชุมครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำปฏิญญานครโฮจิมินห์ (Ho Chi Min City Declaration, April 2016) โดยตกลงกันว่าจะยกระดับที่ประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนให้มีความเป็นทางการ และเปลี่ยนชื่อการประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนเป็นสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน และดำเนินการให้มีการยอมรับองค์กรแห่งนี้ภายใต้กฎบัตรอาเซียนเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรศาลยุติธรรมของประเทศสมาชิกให้มีความมั่นคงยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระขององค์กร  และตกลงแต่งตั้งให้ประธานศาลฎีกาแห่งประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานการประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียนในขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาลงนามในหนังสือร้องขอถึงเลขาธิการอาเซียนเพื่อเพิ่มชื่อขององค์กรโดยได้รับความช่วยเหลือจากศาลฎีกาแห่งประเทศสิงคโปร์  และจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางนำเสนอต่อสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพิจารณาต่อไป 

 

                    หลังจากนั้นมีการประสานงานและหารือกันระหว่างประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกทั้งหมด และประธานศาลฎีกาของประเทศสิงคโปร์มีหนังสือแจ้งประธานศาลฎีกาของทุกประเทศเพื่อให้พิจารณาร่างจดหมายของประธานศาลฎีกาของประเทศเวียดนามถึงเลขาธิการอาเซียนในเรื่องการเพิ่มชื่อสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเป็นองค์กรหนึ่งภายใต้ภาคผนวก ๒ ของกฎบัตรอาเซียน และการขอยกเว้นเงื่อนไขในการเพิ่มชื่อองค์กรบางประการที่ยังไม่อาจกระทำได้ ตลอดจนเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบเครือข่าย ASEAN Judiciaries Portal โดยร่วมมือกับสถาบันกฎหมายแห่งประเทศสิงคโปร์ และร่างบันทึกความเข้าใจ กับคำขอรับทุนสนับสนุนจากอาเซียนและรัฐบาลนอร์เวย์  ซึ่งต่อมาวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ท่านประธานศาลฎีกามีหนังสือแจ้งเป็นมติเวียนว่าเห็นชอบด้วยกับแนวทางและเอกสารที่นำเสนอ

                    ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ เลขาธิการอาเซียนมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการให้ประธานศาลฎีกาแห่งประเทศเวียดนามในฐานะประธานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนในขณะนั้นทราบว่า คำร้องขอให้รับรองสถานะของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน (Accreditation of CACJ with ASEAN) ได้รับการอนุมัติและได้มีการเพิ่มชื่อขององค์กรไว้ในภาคผนวก ๒ ของกฎบัตรอาเซียนแล้ว ภายใต้ส่วนที่ชื่อว่า “Parliamentarians and Judiciary” 

                    การประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ประเทศบรูไน ที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องการรับรองสถานะของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนดังกล่าว

                    อนึ่ง เนื่องจากศาลยุติธรรมไทยโดยประธานศาลฎีกาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน จึงอาจมีกิจกรรมที่เป็นการผูกพันศาลยุติธรรมไทยในเวทีระหว่างประเทศอันจะส่งผลต่อการบริหารศาลยุติธรรมไทยในบริบทของการจัดทำนโยบายตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ ของศาลยุติธรรมไทย สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้นำเรื่องการรับรองสถานะของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อรับทราบ ในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒  ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ได้มีมติเห็นชอบให้ศาลยุติธรรมไทยลงนามในกฎบัตรและข้อบังคับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนได้ (วาระที่ ๕.๓) ซึ่งประธานศาลฎีกาได้ลงนามในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ อันเป็นวันที่มีการจัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๗ ณ กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย และเป็นวันที่กฎบัตรและข้อบังคับดังกล่าวมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์ของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน

                    การประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ ประเทศสิงคโปร์ (ขณะนั้นยังไม่มีสถานะความเป็นองค์กร) ที่ประชุมได้เห็นชอบวัตถุประสงค์ของการประชุมประธานศาลสูงสุดอาเซียน และได้มีการกำหนดไว้ในข้อ ๑ ของกฎบัตรสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนในเวลาต่อมา ได้แก่

๑. เพื่อธำรงรักษาและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในภูมิภาคระหว่างสถาบันศาลยุติธรรมของรัฐสมาชิกอาเซียน

๒. เพื่อสร้างเวทีประจำให้แก่ประธานศาลสูงสุดของรัฐสมาชิกอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องต่างๆที่มีประโยชน์ร่วมกัน และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

๓. เพื่อเอื้ออำนวยต่อการสร้างความร่วมมือในทางตุลาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนากรอบด้านกฎหมายในอาเซียน เพื่อที่จะส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และความเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ

๔. เพื่อร่วมมือกันในการเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันศาลยุติธรรมในอาเซียน โดยเฉพาะการยึดมั่นในหลักนิติธรรม การศึกษาและฝึกอบรมทางตุลาการ และเรื่องเทคโนโลยีในศาล

คณะทำงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (คำสั่งประธานศาลฎีกา ที่  ๑  /๒๕๖๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนประจำประเทศไทย)

๑) คณะทำงานด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศาลในภูมิภาคอาเซียนผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ASEAN Judiciaries Portal)

คณะทำงานด้านนี้มีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจัดทำเว็บไซต์ของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับระบบการศาลและการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน

๒) คณะทำงานด้านการบริหารจัดการคดีและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในศาลยุติธรรม (Case Management and Court Technology)

คณะทำงานด้านนี้มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งภารกิจออกเป็น ๒ ด้าน ได้แก่ ด้านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในศาลยุติธรรม และด้านการบริหารจัดการคดี ปัจจุบันคณะทำงานฯ ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยเฉพาะในคดีอาญา และร่างกรอบความร่วมมือในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในองค์กรตุลาการในภูมิภาค (AI Governance Framework) โดยในเดือนมีนาคม 2564 คณะทำงานฯ ได้ส่งแบบสอบถามไปยังศาลยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียนเพื่อตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับ การศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับกรอบการทำงานปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐของประเทศภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมร่างกรอบความร่วมมือในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในองค์กรตุลาการในภูมิภาค

๓) คณะทำงานด้านการศึกษาและการอบรมทางการศาล (Judicial Education and Training)

คณะทำงานชุดนี้มีประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน มีการจัดการฝึกอบรมในระดับภูมิภาคพัฒนาหรือต่อยอดความรู้ทางกฎหมายและการบริหารงานทางการศาล  โดยมีหัวข้อในการอบรมที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องกฎหมายล้มละลาย เรื่องกฎหมายพาณิชย์ กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือการฝึกอบรมทางการศาลภายใต้ภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก : ความท้าทายและบทเรียน เป็นต้น

๔) คณะทำงานว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งภายในภูมิภาคอาเซียน (Facilitating Service of Civil Processes within ASEA)
คณะทำงานชุดนี้มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อศึกษากระบวนการส่งเอกสารในทางแพ่งและพาณิชย์ของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ พร้อมทั้งขยายขอบเขตของการทำงานเพิ่มเติมไปถึงเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง เช่น การให้ความช่วยเหลือในคดีแพ่ง เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือการส่งหมายเรียกภายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างกฎเกณฑ์ต้นแบบในเรื่องของกระบวนการสืบพยานแทนศาลต่างประเทศ
อนึ่ง ในการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดครั้งที่ 10 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการพิจารณาเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อ คณะทำงาน Working Group on Facilitating Service of Civil Processes within ASEAN เป็น Working Group on Civil Proceedings within ASEAN

๕) คณะทำงานด้านข้อพิพาทเกี่ยวกับเด็กที่มีบิดามารดาต่างสัญชาติกัน (Cross-Border Disputes Involving Children)

คณะทำงานชุดนี้มีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบ มีการกำหนดแนวทางในการสร้างกระบวนการสำหรับการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก ในกรณีที่มีการร้องขอใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก กำหนดรูปแบบสำหรับการกรอกข้อมูลของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับกฎหมายหรือความเป็นไปได้ที่จะใช้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเกี่ยวเด็ก พิจารณาร่างประมวลจริยธรรมสำหรับผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีเกี่ยวกับเด็ก และการจัดการสัมมนา ASEAN Family Judges Forum

๖) คณะทำงานด้านการศึกษาบทบาทในอนาคตของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (Future Work of the CACJ)

คณะทำงานชุดนี้เดิมชื่อ คณะทำงานเพื่อศึกษาถึงขอบเขตวัตถุประสงค์ และบทบาทของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการรับรองสถานะของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาภารกิจของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนและแนวทางการดำเนินงานในระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า พิจารณาแนวทางประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนเพื่อสนับสนุนภารกิจของอาเซียน พิจารณาแนวทางการได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน และพิจารณาแนวทางความร่วมมือกับองค์กรฝ่ายอื่น

๗) คณะทำงานว่าด้วยการประชุมอาเซียนพลัส (ASEAN+ Meetings)

ในการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๖ ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานการประชุมอาเซียนพลัสเพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่ง (Singapore Declaration,July 2018) เพื่อให้มีบทบาทกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภายนอกภูมิภาคอาเซียน  ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางการศาล การศึกษาอบรมทางการศาล หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในศาล ซึ่งศาลยุติธรรมของประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการทำงานคณะทำงานการประชุมอาเซียนพลัส  โดยมี นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล รองประธานศาลอุทธรณ์ เป็นประธานคณะทำงานการประชุมอาเซียนพลัส

   

                    คณะทำงานชุดนี้ได้มีการประชุมร่วมกันครั้งแรกในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และได้นำเสนอแผนการสร้างความร่วมมือให้ที่ประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ พิจารณาโดยมุ่งเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรทางตุลาการของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ  โดยวางกรอบการทำงานโดยคำนึงถึง

                    (๑)  ความต้องการของศาลในภูมิภาคอาเซียนด้านการศึกษา การฝึกอบรม และความร่วมมือทางการศาล ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงของระบบกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับจากองค์กรศาลในประเทศอื่นหรือองค์กรอื่นที่มีความสัมพันธ์ด้วย

                    (๒)  ขอบเขตที่เกี่ยวข้องหรือจะเป็นประโยชน์ต่อศาลในภูมิภาคอาเซียน และอาจเรียนรู้ได้จากศาลหรือจากองค์กรดังกล่าว และ

                    (๓)  ประโยชน์ด้านการศึกษา การฝึกอบรม และความร่วมมือทางการศาล ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงของระบบกฎหมายที่ชัดเจนในทางปฏิบัติซึ่งอาจได้รับจากการสร้างความสัมพันธ์นั้น

                    ทั้งนี้ คณะทำงานฯได้เสนอการพัฒนาความร่วมมือด้วยการแบ่งความร่วมมือออกเป็น 3 ระดับ   ได้แก่

  • ASEAN+ 3 – จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
  • ASEAN+ More – ออสเตรเลีย อินเดีย และองค์กรทางการศาลของภูมิภาคอื่น
  • ASEAN+ Beyond Judiciary – องค์กรอื่น เช่น UNODC, OECD, UNDP, HCCH
     

 

                    ภายหลังจากที่ประธานศาลสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration, November 2019 )  คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือในนามสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนกับศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้จัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพลัส ครั้งปฐมฤกษ์ ภายใต้หัวข้อ “Court Technology and Access to Justice: Challenges and Key Success Factors” ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่  ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

 

 

 

 

 

ข่าวการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพลัส ครั้งปฐมฤกษ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

๘) คณะทำงานว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคดีผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Conduct of Videoconferencing Hearings)

ตามมติที่ประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานของสภาประธาน
ศาลสูงสุดอาเซียนเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑ คณะ ได้แก่ คณะทำงานว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคดีผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Conduct of Videoconferencing Hearings) ซึ่งมีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นประธานคณะทำงาน

 



สาระสำคัญของกฎบัตรและข้อบังคับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน
Charter of the Council of ASEAN Chief Justices

          กฎบัตรของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน มีสาระสำคัญว่า กฎบัตรดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นธรรมนูญขององค์กรสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน โดยกำหนดขอบเขตวัตถุประสงค์ของสภาฯ ตามที่ที่ประชุมของสภาฯเคยมีมติเห็นชอบแล้ว  (ข้อ ๑) กำหนดสิทธิหน้าที่ของสมาชิกโดยประธานศาลฎีกาของแต่ละประเทศจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามการตัดสินใจร่วมกันและพยายามอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานต่างๆ (ข้อ ๓) กำหนดวิธีการที่สมาชิกอาจขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกได้ทุกเมื่อ (ข้อ ๕) กำหนดวิธีการในการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกให้ใช้กระบวนการปรึกษาหารือและต้องได้รับฉันทามติของที่ประชุม (เป็นการให้ความเห็นชอบแบบไม่มีผู้ใดคัดค้าน) (ข้อ ๖)   ซึ่งเป็นวิธีการอย่างเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ของกฎบัตรอาเซียน กำหนดให้มีการจัดประชุมสามัญขึ้นปีละครั้งหรือในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน (ข้อ ๗) กำหนดบทบาทของผู้ทำหน้าที่ประธานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (ข้อ ๘)  กำหนดบทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน และผู้ประสานงานของแต่ละประเทศ (ข้อ ๙) ตลอดจนกำหนดบทบาทของคณะทำงานต่างๆและความรับผิดชอบของประธานคณะทำงานฯ (ข้อ ๑๕)

                    สำหรับข้อบังคับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน เป็นเอกสารที่กำหนดวิธีดำเนินงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน โดยมีสาระสำคัญกำหนดวิธีการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน และหน้าที่ของเลขาธิการสภาฯ ในการติดต่อประสานงานกับองค์กรภายนอกในนามของสภาฯ (ข้อ ๑) กำหนดบทบาทของคณะทำงานและประธานคณะทำงานต่างๆ ในรายละเอียด (ข้อ ๓) กำหนดวิธีการในการติดต่อประสานงานกับสภาฯ และคณะทำงานต่างๆ เพื่อสร้างกระบวนการรับรู้ร่วมกันของประธานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน และสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เกี่ยวกับเรื่องที่มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก  (ข้อ ๔) การแจ้งให้ทราบถึงการพบหรือประชุมกับหน่วยงานภายนอกในนามของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (ข้อ ๕) และกำหนดให้สมาชิกทุกประเทศพยายามปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับอย่างเต็มที่ (ข้อ ๖) ซึ่งทำให้บทบัญญัติที่กำหนดกรอบเวลาต่างๆนั้นไม่มีสภาพบังคับแต่อย่างใด


ข่าวการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน


 

Link ภายนอกที่สำคัญ
Council of ASEAN Chief Justices (CACJ)
ASEAN Law Association