Accessibility Tools

สำนักประธานศาลฎีกา
Office of the President of the Supreme Court

สำนักประธานศาลฎีกา
image

สำนักประธานศาลฎีกา

๐๐๑-๒-๒.๑_๐๔๖ การขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา นางเมทินี ชโลธร ข้อที่ ๑image
image

นโยบายประธานศาลฎีกาข้อที่ ๑

เสมอภาค
“ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค”

          ๑.๑ พัฒนาระบบงานศาลยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในความบริสุทธิ์ ยุติธรรม  โปร่งใส และตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้

          ๑.๒ กระจายการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

          ๑.๓ ลดขั้นตอน ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการดำเนินคดี และปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม

          ๑.๔ ประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างเข้าถึงและเข้าใจเพื่อความเสมอภาคในการรับรู้ถึงสิทธิของตน

          ๑.๕ สร้างกลไกหรือวิธีการที่ศาลจะได้รับข้อมูลรอบด้านอย่างครบถ้วน และเปิดเผยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างเข้าใจสังคม

**********

Link เอกสาร (e-Book PDF) : กรุณาคลิกที่นี่

**********

          วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๔๗ น.
          ตามหนังสือเวียนสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ ศย ๐๑๖/ว ๑๐๐๓ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ตามที่มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นตันไป (วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓) ซึ่งมีสถานะเป็นข้อกำหนดกลางที่กำหนดขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในทุกขั้นตอนที่สามารถดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเอกสารในสำนวนความ การยื่น ส่ง หรือรับเอกสาร การนั่งพิจารณา การบันทึกคำเบิกความพยาน การรับฟังพยานหลักฐาน การทำคำพิพากษาอุทธรณ์และฎีกา การประชุมใหญ่หรือการประชุมแผนกคดีในศาลชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา นั้น
          ในการนี้ เพื่อให้การบังคับใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องการจัดทำเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การนั่งพิจารณาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งและการลงลายมือชื่อในเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบเดียวกัน จึงเห็นสมควรให้มีประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยกระบวนพิจารณาที่อาจใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศสามารถดำเนินการโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำนักงานศาลยุติธรรม จัดหาให้แก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศแล้ว และเมื่อได้จัดให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับศาลในการดำเนินงานเรื่องใดเพิ่มเติมสำนักงานศาลยุติธรรมจะได้ออกประกาศในเรื่องดังกล่าวต่อไป พร้อมนี้ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญและตารางที่มา ข้อพิจารณา และเทคโนโลยีที่ใช้ดำเนินงานตามประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมมาด้วยแล้ว
          สำนักงานศาลยุติธรรมจึงขอแจ้งประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าวมาเพื่อทราบ และขอได้โปรดแจ้งให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมในหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทราบในโอกาสแรกด้วย ทั้งนี้ ได้แจ้งการประกาศผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) อีกทางหนึ่งด้วยแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้จากเว็บไซต์สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม https://jla.coj.go.th
          อ้างอิง : สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม. (๒๕๖๓). ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/38aSk8C.

**********

          วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๒๓ น.
          สืบเนื่องจากนโยบายประธานศาลฎีกาประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ข้อ ๑ เสมอภาค  “ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค” (นโยบายประธานศาลฎีกา ข้อย่อยที่ ๑.๒ กระจายการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และข้อย่อยที่ ๑.๓ ลดขั้นตอน ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการดำเนินคดี และปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม)
          สำนักงานศาลยุติธรรมจึงเห็นควรให้มีการศึกษาเรื่อง “การเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ : สำหรับผู้มาติดต่อราชการศาลและประชาชนทั่วไป” โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อรวบรวมความคิดเห็น แล้วนำมาวิเคราะห์ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพัฒนาระบบงานของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์
          ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ได้ดำเนินการออกหนังสือเวียน ที่ ศย ๐๒๐/ว ๙๓๖ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ) เพื่อขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานฯ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มาติดต่อราชการและประชาชนทั่วไป โดยกำหนดให้ส่งผลการสำรวจฯ กลับมายังสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ภายในวันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓
          โดยวัตถุประสงค์ของการสำรวจครั้งนี้ : สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบถึงความพร้อมของคู่ความในการเข้าถึงทางเทคโนโลยี พร้อมถึงทราบข้อแนะนำหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากประชาชนเกี่ยวกับการเข้าถึงทางเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การสะท้อนมุมมอง และแนวทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินควร เพื่อให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน”
          ผู้รับผิดชอบโครงการ : ส่วนสนับสนุนการพัฒนาระบบและมาตรฐานงานศาลสูง สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์
          อ้างอิง : สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. (๒๕๖๓). แบบสำรวจ เรื่อง "การเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ : สำหรับผู้มาติดต่อราชการศาลและประชาชนทั่วไป". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/36uC2q6.