Accessibility Tools

สำนักประธานศาลฎีกา
Office of the President of the Supreme Court

สำนักประธานศาลฎีกา
image

สำนักประธานศาลฎีกา

๐๐๑-๒-๒.๒_๐๔๖ การขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา นางเมทินี ชโลธร ข้อที่ ๒image
image

นโยบายประธานศาลฎีกาข้อที่ ๒

สมดุล
“สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ”

          ๒.๑ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน

          ๒.๒ ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาล

          ๒.๓ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม และพยานในคดีอาญา

**********

Link เอกสาร (e-Book PDF) : กรุณาคลิกที่นี่

**********

          ข่าวความเคลื่อนไหวรอบเดือน (หมายเหตุ ท่านสามารถคลิกที่ชื่อเดือนเพื่อไปสู่เนื้อหาข่าวในเดือนนั้น ๆ ได้ทันที)
               - มกราคม ๒๕๖๔
               - ธันวาคม ๒๕๖๓
               - พฤศจิกายน ๒๕๖๓
               - ตุลาคม ๒๕๖๓

**********

          ความเคลื่อนไหวประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๔

           วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๓๓ น.
          คณะทำงานส่งเสริมดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน ขอประชาสัมพันธ์ “แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญา” สำหรับศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มการดูแลเอื้อเฟื้อต่อพยาน ตามนโยบายประธานศาลฎีกา ข้อ ๒ “สมดุล” สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ

          ทั้งนี้ กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานปรากฏตามลิงค์ด้านล่างนี้ 
          >> https://drive.google.com/drive/mobile/folders/1961K4yn7wvpGw5m0TD6vUuroARpwAK_n?usp=sharing <<

          >> เอกสารแนวทางศาลชั้นต้นในการยกระดับการปฏิบัติต่อพยาน กรุณาคลิกที่นี่ หรือปรากฏตามเอกสารแนบด้านล่างนี้  <<

           อ้างอิง : สำนักประธานศาลฎีกา. (๒๕๖๔).

**********

          วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ น.
          สืบเนื่องจากนโยบายประธานศาลฎีกาประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ข้อ ๒ สมดุล ข้อย่อยที่ ๒.๓ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม และพยานในคดีอาญา สำนักประธานศาลฎีกาจึงได้จัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาเพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปประกอบการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ข้อ ๒ สมดุล ต่อไป
          สำนักประธานศาลฎีกาจึงขอความอนุเคราะห์มายังผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ/สำนักงานในศาลชั้นต้นในเขตกรุงเทพมหานครที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาหรือผู้แทน จัดทำแบบสอบถามผ่านระบบ Google Form ภายในวันอังคารที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ หากท่านมีข้อสงสัยโปรดติดต่อส่วนประสานนโยบาย สำนักประธานศาลฎีกา โทร ๐๒ ๒๒๓ ๑๔๙๑ ท่านสามารถเข้าสู่ Link แบบสอบถามฯ ได้จาก "กรุณาคลิกที่นี่"
          อ้างอิง : สำนักประธานศาลฎีกา. (๒๕๖๔). หนังสือเวียนสำนักประธานศาลฎีกา ที่ ศย ๐๐๑/ว ๓๘ - ๓๙ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา.

**********

          วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๑๙ น.
          ตามหนังสือเวียนสำนักงานศาลยุติธรรม ด่วนที่สุด ที่ ศย ๐๑๖/ว ๕ (ป) ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๔ ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาว่า คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและประธานศาลฎีกามีนโยบายสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยในการต่อสู้คดีในศาล ขยายการใช้เทคโนโลยีในการลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีโดยมีระบบที่มีมาตรฐานให้ทุกศาลขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน ประกอบกับสำนักงานศาลยุติธรรมได้นำระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการแก่ประชาชนในการยื่น ส่ง และรับคำคู่ความและเอกสารทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการอื่น ๆ ทางออนไลน์
          ในการนี้ จึงเห็นสมควรให้นำระบบดังกล่าวมาอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในการขอประกันโดยไม่ต้องเดินทางมาศาลและสามารถยื่นคำขอประกันทางออนไลน์ได้ตลอดเวลา โดยออกประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานให้บริการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (รายละเอียดปรากฏตามลิงก์)
          สำนักงานศาลยุติธรรมจึงขอแจ้งประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าวมาเพื่อทราบ และขอได้โปรดแจ้งให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมในหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทราบในโอกาสแรกด้วย เพื่อสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ได้แจ้งการประกาศผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) อีกทางหนึ่งด้วยแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้จากเว็บไซต์สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม https://jla.coj.go.th
          อ้างอิง : สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม. (๒๕๖๓). ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3ozWoET.

**********

          วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ น.
          สำนักส่งเสริมงานตุลาการได้ออกแนวทางปฏิบัติการสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาครั้งแรกในลักษณะการประชุมทางจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้จาก "กรุณาคลิกที่นี่"
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๔).

**********

          วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ น.
          สำนักส่งเสริมงานตุลาการได้ออกแนวทางปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้จาก "กรุณาคลิกที่นี่ และแนวทางปฏิบัติการไต่สวนคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) กรณีพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้จาก "กรุณาคลิกที่นี่"
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๔).

**********

          วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๕๘ น.
          สำนักประธานศาลฎีกาได้ทำการปรับปรุง Link แบบรายงานสถิติการปล่อยชั่วคราวระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ และสถิติผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ท่านสามารถเข้าสู่ Link แบบรายงานฯ ได้จาก "กรุณาคลิกที่นี่" (รายงานภายในวันที่ ๕ ม.ค. ๖๓)
           อ้างอิง : สำนักประธานศาลฎีกา. (๒๕๖๓).

**********

          ความเคลื่อนไหวประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๓

          วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๓๐ น.
          สำนักส่งเสริมงานตุลาการขอความร่วมมือมายังศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ตอบแบบสอบถามการดำเนินงานตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๖๓
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๓). แบบสอบถามการดำเนินงานตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๖๓. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://bit.ly/3hCJaoa.

**********

          วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๒๙ น.
          สำนักส่งเสริมงานตุลาการร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ จัดโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนานวัตกรรมการอำนวยความยุติธรรม เรื่อง “การประเมินความเสี่ยงออนไลน์ และมาตรการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว” โดยวิธีการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียง (Streaming) ในวันพุธที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชั้น ๖ อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา และนายปิยะพล สุวิมล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับฟังได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงออนไลน์และมาตรการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว สามารถนำความรู้ แนวทางปฏิบัติ และเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีศาล/หน่วยงานที่เข้าร่วมรับฟังประมาณ ๓๐๗ ศาล/หน่วยงาน
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๓). โครงการสัมมนาเพื่อพัฒนานวัตกรรมการอำนวยความยุติธรรม เรื่อง “การประเมินความเสี่ยงออนไลน์ และมาตรการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว” โดยวิธีการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียง (Streaming). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3naikVQ และ https://bit.ly/3oajAcO.

**********

          วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๒๙ น.
          ประธานศาลฎีกาได้โปรดมีดำริให้สำนักส่งเสริมงานตุลาการ (ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ) และสำนักประธานศาลฎีกา (ฝ่ายสนับสนุนการประชุม) จัดการประชุมคณะทำงานส่งเสริมดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ ในวันพุธที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม ๔๐๙ ชั้น ๔ ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพมหานคร รวมทั้งผ่านระบบการประชุมสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ (Zoom Meeting) ไปยังคณะทำงานฯ ที่อยู่ ณ ศาลต่างจังหวัด โดยมีวาระการประชุม ดังนี้
          วาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ทราบ
          วาระที่ ๒ การรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ และครั้งที่ ๒/๒๕๖๓
          วาระที่ ๓ เรื่องเพื่อทราบ
                   (๓.๑) รับทราบสถิติการปล่อยตัวชั่วคราว
           ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) แนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญาตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๖๓ อีกด้วย
           อ้างอิง : สำนักประธานศาลฎีกา. (๒๕๖๓).

**********

          วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๔๖ น.
          ตามหนังสือเวียนสำนักงานศาลยุติธรรมที่ ศย ๐๒๕/ว ๙๗๙ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เรียนหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ตามที่ประธานศาลฎีกาได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้กระบวนการทางศาลในทุกขั้นตอนมีการปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ และศาลพึงช่วยเหลือแนะนำผู้เสียหายในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็วและเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย นั้น
          สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐ ตรี ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ สามารถนำมาใช้กับคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้ โดยขอให้หน่วยงานพิจารณานำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในการเยียวยาผู้เสียหายตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีอาญา เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรมและรวดเร็ว ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ ในการไกล่เกลี่ยให้คำนึงถึงความต้องการของผู้เสียหายในการระงับคดีอาญาด้วย ซึ่งการนำมาตรการฯ ดังกล่าวมาใช้กับผู้เสียหายในคดีอาญาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของประธานศาลฎีกานั้น สอดคล้องกับคำแนะนำฯ ข้อ ๙ ศาลพึงช่วยเหลือแนะนำผู้เสียหายในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็ว และเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๓). การนำมาตรการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมาใช้กับผู้เสียหายในคดีอาญา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/2IkSYpT.

 

**********

          วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๘.๔๖ น.
           ตามหนังสือเวียนสำนักงานศาลยุติธรรมด่วนที่สุด ที่ ศย ๐๒๕/ว ๙๘๔ ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ด้วยประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยมีหลักการสำคัญเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น ส่งผลให้การกำหนดวงเงินประกันและการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวลดความสำคัญลง อีกทั้งที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ ใช้บังคับระหว่างวันที่ ๒๔ มิถุนายน  ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน  ๒๕๖๓ ซึ่งคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความเสมอภาคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่กระทบต่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม และทำให้เห็นได้ว่า การพิจารณาและมีคำสั่งคำขอประกันตามบัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาและมีคำสั่งคำขอประกันเดิมไม่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับปรุงคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับบัญชีมาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ฉบับลงวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ และออกคำแนะนำฉบับใหม่ใช้แทนฉบับเดิม เพื่อให้ผู้พิพากษาทั้งหลายใช้มาตรฐานกลางสำหรับเป็นแนวทางการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว
          ทั้งนี้ ท่านสามารถอ่านคำแนะนำของประธานศาลฎีกาฯ ได้ที่ Link Banner รวมระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้อกำหนด ข้อบังคับ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาหน้าเว็บไซต์สำนักประธานศาลฎีกา หรือกรุณาคลิกที่นี่
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๓). คำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๖๓. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3ooxXtC.

**********

          วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๒๙ น.
          ตามนโยบายประธานศาลฎีกาประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ข้อ ๒ สมดุล “สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ” (นโยบายประธานศาลฎีกา ข้อย่อยที่ ๒.๑ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน) ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยนำแนวทางการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมาใช้แก่ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับนั้น
          สำนักงานศาลยุติธรรมได้เรียนแจ้งว่าได้มีการจัดทำ “โครงการใช้มาตรการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ” ขึ้น โดยในระยะเริ่มต้นได้กำหนดศาลนำร่อง จำนวน ๑๐ ศาล ได้แก่ ๑. ศาลอาญา (ศาลส่วนกลาง) ๒. ศาลจังหวัดนนทบุรี (ศาลในภาค ๑) ๓. ศาลจังหวัดชลบุรี (ศาลในภาค ๒) ๔. ศาลจังหวัดอุบลราชธานี (ศาลในภาค ๓) ๕. ศาลจังหวัดอุดรธานี (ศาลในภาค ๔) ๖. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ศาลในภาค ๕) ๗. ศาลจังหวัดพิษณุโลก (ศาลในภาค ๖) ๘. ศาลจังหวัดกาญจนบุรี (ศาลในภาค ๗) ๙. ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช (ศาลในภาค ๘) และ ๑๐. ศาลจังหวัดสงขลา (ศาลในภาค ๙) ซึ่งศาลนำร่องทั้ง ๑๐ ศาลได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน ๖ ด้าน (รายละเอียดปรากฏตามลิงก์อ้างอิงเนื้อข่าวนี้) โดยผลการดำเนินการปรากฏว่า สามารถลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นได้อย่างมีนัยสำคัญ สมควรขยายผลการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมไปยังศาลยุติธรรมชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีที่มีโทษทางอาญาทั่วประเทศ
          
ทั้งนี้ สำนักส่งเสริมงานตุลาการได้ดำเนินการออกหนังสือเวียน ที่ ศย ๐๒๕/ว ๙๔๔ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เรื่อง การจัดทำโครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อขอให้ศาลบันทึกผลการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับลงในแบบรายงานผลการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (รายงานภายในทุกวัน) และแบบเก็บข้อมูลการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (รายงานภายในวันที่ ๗ ของเดือนถัดไป)
          วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลสถิติการทำงานบริการสังคมฯ : เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาบรรลุวัตถุประสงค์และให้ศาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งยังสอดคล้องกับระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน และแนวปฏิบัติในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. ๒๕๔๖
          ผู้รับผิดชอบโครงการ : ส่วนวิทยาการระงับข้อพิพาททางเลือก สำนักส่งเสริมงานตุลาการ
          อ้างอิง : สำนักส่งเสริมงานตุลาการ. (๒๕๖๓). การจัดทำโครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/37tpQ8b.

**********

          ความเคลื่อนไหวประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓
          Link เอกสาร : https://bit.ly/2Lb6iyD

 

          ความเคลื่อนไหวประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๓
          Link เอกสาร : https://bit.ly/2XrHOTY

 


image เอกสารแนบ